วันจันทร์, มิถุนายน 12, 2560

แก้แล้วแย่อย่าแก้... เครือข่ายภาคประชาชน walk out จากเวทีรับฟังความคิดเห็น แก้ พรบ.บัตรทอง ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่



https://www.facebook.com/VoiceTVonline/videos/10156643137524848/

...


https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/videos/1408958435890617/

...


กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือยันแก้กฎหมายบัตรทองแล้วแย่อย่าแก้ดีกว่า














เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 เวลาประมาณ 11.30 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างกว่า 300 คนที่มาร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ภาคเหนือ ที่ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ....โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธาน พร้อมใจกันเดินออกจากห้องประชุม (Walkout) และร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืนคัดค้านกระบวนการแก้กฎหมายที่ทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) บริเวณหน้าห้องประชุมศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ตัวแทนกลุ่มคนหลักรักประกันสุขภาพภาคเหนือ กล่าวว่า จากการติดตามการแก้กฎหมายบัตรทองอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น เห็นได้ชัดว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์กับระบบ ไม่มีความชอบธรรมทั้งในแง่กระบวนการแก้ไขกฎหมายและเนื้อหาที่ทำลายหลักการของระบบบัตรทองและลิดรอนสิทธิประชาชนอย่างมาก

อีกทั้งกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการอธิบายในเชิงแนวคิดและลงลึกในเชิงสาระสำคัญของเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง กลับถูกจำกัดเวลาในการแสดงความคิดเห็นได้เพียงคนละ 3 นาทีเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการจัดเวทีเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ครบกระบวนตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเชิงรายละเอียดใดใดเลย

ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือจึงมีมติร่วมกันว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ “ต้องยุติ” และให้ “เริ่มต้น” กระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ทั้งหมด โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายให้สมดุลและต้องมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

ที่สำคัญต้องจัดให้กระบวนการรับฟังความเห็นต่อการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม และเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์

นางกิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ กลุ่มคนหลักประกันสุขภาพเครือข่ายชาติพันธุ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในการแก้ไขกฎหมายว่า ในมาตรา 5 ที่ระบุให้คนไทยทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยเข้าถึงหลักประกันสุขภาพนั้นดีอยู่แล้วในเชิงหลักการ แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความไว้เมื่อปี พ.ศ. 2545 ว่าคนไทยในที่นี้หมายถึงคนที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักที่มีสัญชาติไทย ทำให้คนไทยส่วนหนึ่ง เช่น คนไทยตกหล่น คนที่รอพิสูจน์สัญชาติ รอพิสูจน์สถานะบุคคลไม่ได้รับสิทธิตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ถึงแม้ปัจจุบันกลุ่มคนดังกล่าวจะมีนโยบายให้สิทธิคืนสิทธิขั้นพื้นฐานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 อยู่แล้ว แต่กองทุนดังกล่าวเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีที่รัฐบาลจะยกเลิกเมื่อใดก็ได้ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมกองทุนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเมื่อผู้รับบริการได้รับความเสียหาย และไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทั้งที่คนกลุ่มเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงกับความเจ็บป่วย แต่ประเด็นดังกล่าวกลับถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย

ส่วนประเด็นการนิยาม “สถานบริการ” ที่การแก้กฎหมายครั้งนี้มีความพยายามจะรวมศูนย์อำนาจด้านการจัดการสุขภาพไว้ที่หน่วยบริการเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำงานด้านสุขภาพไม่ใช่แค่การรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา และคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการด้านสุขภาพก็มีทั้งสถานบริการสุขภาพของรัฐ เอกชน สถานพยาบาลของชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรศาสนา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เป็นการยกระดับให้ “งานสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน” การแก้กฎหมายครั้งนี้จึงเป็นการตัดทิ้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการส่งเสริมและร่วมจัดบริการสุขภาพอย่างชัดเจน

นายวุฒิกร พุทธิกุล ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.น่าน ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้มีความชอบธรรมมาตั้งแต่แรก เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่กระบวนการแก้ไขกฎหมายที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด 27 คน เป็นฝ่ายผู้จัดบริการ 7 คน ที่เหลือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ภาคประชาชนมีเพียง 2 คนเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน 48 ล้านคน และถึงแม้ภาคประชาชนจะเสนอให้ปรับสัดส่วนของคณะกรรมการให้สมดุลกันก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

สำหรับเนื้อหาในร่างกฎหมายไม่เห็นด้วยที่จะให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการทั้งในส่วนคณะกรรมการ (บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เช่น เสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาเป็นรองประธาน และมีคณะกรรมการจากหน่วยให้บริการเพิ่มมาอีก 7 ที่นั่ง แต่ภาคประชาชนมีจำนวนเท่าเดิมคือ 5 คน ตัวแทนท้องถิ่นถูกลดจำนวนลงในบอร์ดหลักประกันสุขภาพ เท่ากับเป็นการแทรกแซงและทำลายหลักการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการ (กระทรวงสาธารณสุข) และผู้ซื้อบริการแทนประชาชน (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ: สปสช.) และไปเพิ่มอำนาจให้หน่วยบริการมาทำหน้าที่ “คิดแทน” ความต้องการของประชาชน

นางนิตยา สิทธิหงส์ เครือข่ายผู้บริโภค จ.พิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการแก้กฎหมายควรใส่ใจกับหลักการที่ให้ประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน ด้วยการตัดวรรคสองในมาตรา 5 ออกไปทั้งหมด ไม่ให้มีการกำหนด “การร่วมจ่าย” ณ จุดบริการ เพราะจะลดทอนโอกาสในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชน ต้องกลับไปสู่ยุคก่อนมีบัตรทอง ใครมีเงินก็ได้รับการรักษา ส่วนคนไม่มีเงินก็ต้องรอสงเคราะห์หรือต้องขายทรัพย์สินเพื่อหาเงินมาเยียวยาตัวเองหรือคนในครอบครัว ทั้งที่การรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับจากรัฐอย่างถ้วนหน้าและมีมาตรฐาน ที่สำคัญประชาชนก็ร่วมจ่ายผ่านระบบการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว

นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าก่อนมีระบบบัตรทองผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี เพราะโรงพยาบาลไม่ได้สำรองยาไว้เนื่องจากมีราคาแพง ต้องยืมยากันระหว่างโรงพยาบาลทำให้ผู้รับบริการบางรายต้องมารับยารายวัน รายสัปดาห์ เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางอย่างมาก

แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อยารวม โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ต่อรอง เจรจา จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีราคาแพง เช่น ยารักษาโรคเรื้อรัง ยาละลายลิ่มเลือด ยากำพร้า ยาต้านพิษ ฯลฯ แล้วกระจายยาไปในหน่วยบริการที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้ผู้ป่วยไม่พบปัญหายาขาดแคลนเหมือนในอดีต อีกทั้งสปสช. ยังสามารถต่อรองราคายาได้ลดลงถึงร้อยละ 60 – 70 ของราคาขาย ทำให้ประเทศชาติประหยัดงบประมาณได้มาก ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขต่อรองราคายาได้ไม่เกินร้อยละ 5

อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายครั้งนี้กลับไม่ระบุอำนาจให้ สปสช. ทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งที่ประชาชนได้ประโยชน์จากการจัดซื้อยารวม อีกทั้งยังเคยมีหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบก็พบว่าโปร่งใส ต่างจากกระทรวงสาธารณสุขที่เคยมีปัญหาอดีตรัฐมนตรีทุจริตการจัดซื้อยา ดังนั้น ภาคประชาชนจึงกังวลว่าหากให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดำเนินการแทนแล้วจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนโดยตรงเหมือนในอดีต

อีกประเด็นหนึ่งคือการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครตำแหน่งเลขาธิการที่เดิมทีไม่เปิดโอกาสให้คู่สัญญา หรือมีประโยชน์ได้เสียกับ สปสช. (ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) ไม่สามารถสมัครเป็นเลขาธิการได้ แต่ตอนนี้กลับเปิดช่องให้ทั้งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกกรม กอง และภาคเอกชน องค์กรเอกชน สามารถเข้ามาสมัครได้ โดยไม่ขัดคุณสมบัติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเข้ามายึดพื้นที่ของ สปสช. ในฐานะฝ่ายที่ให้บริการกับประชาชน จึงเห็นว่าถ้าแก้กฎหมายแล้วแย่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่าแก้ดีกว่า

หลังจากนั้นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือจึงแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบ ในขณะที่การรับฟังความเห็นในห้องประชุมยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีใครขัดขวางการจัดเวทีแต่อย่างใด
------------------------------------------------


ที่มา FB

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ