วันเสาร์, สิงหาคม 20, 2559

ทางสายผัดไทย





โดย กานดา นาคน้อย https://www.minds.com/kandainthai

มติชนออนไลน์
19 ส.ค. 59


1. โลกาภิวัฒน์

แม้ว่าปัจจุบันไทยเข้า“ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”แล้ว กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ก็ยังไม่อ่อนตัวลง โลกาภิวัฒน์เข้ามาสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีบทบาทในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม เจ้าพระยาวิชาเยนทร์นายกรัฐมนตรีในสมัยพระนารายณ์เป็นคนกรีกและเคยทำงานให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ทางรถไฟสายแรกของสยามสร้างด้วยเงินกู้จากตลาดทุนที่อังกฤษ ทางหลวงแผ่นดินที่ได้มาตรฐานสากลสายแรกสร้างด้วยเงินช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐ แม้แต่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรและบิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัยก็เป็นคนอิตาลี

วิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวข้องกับโลกาภิวัฒน์อย่างแนบแน่นตั้งแต่ตื่นยันหลับ คนกรุงชอบใส่เสื้อแขนยาว เสื้อนอกและกางเกงยีนส์เหมือนอยู่เมืองฝรั่ง ทำให้ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศแรงๆให้เปลืองไฟฟ้า ชอบพูดภาษาไทยปนอังกฤษ ชอบตั้งชื่อเล่นลูกด้วยภาษาอังกฤษ ชอบดารานักร้องลูกครี่ง ชอบไปเที่ยวเมืองนอกและเรียนเมืองนอก ชอบส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ คนต่างจังหวัดเห็นวิถีชีวิตคนกรุงในทีวีในหนังในละครก็อยากทำตามบ้าง แต่มักโดนคนกรุงคอยกำราบว่าอย่าฟุ้งเฟ้อ คนกรุงตีความว่าเป็นความผิดของโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมที่ทำให้คนต่างจังหวัดอยากได้อยากมี ทั้งๆที่ความต้องการของคนต่างจังหวัดไม่ต่างจากคนกรุง

โลกาภิวัฒน์คือการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และปัจจัยการผลิตข้ามประเทศ เป็นกลไกที่ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสบริโภคสินค้าที่ผู้ผลิตในประเทศไม่มีเทคโนโลยีผลิต และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ้าไม่มีโลกาภิวัฒน์ก็จะไม่มีน้ำแข็งหรือตู้เย็น (ต้องกินน้ำฝนลอยดอกมะลิและต้องถนอมอาหารด้วยการหมักดองหรือตากแห้ง) ไม่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ (ต้องนุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนคนโบราณ) ไม่มีชุดชั้นใน (ต้องใช้ผ้าคาด) ไม่มีอินเตอร์เนตหรือมือถือ (ต้องส่งข่าวด้วยนกพิราบ) ไม่มีเครื่องพิมพ์ (ต้องคัดสำเนาด้วยมือทีละตัวอักษร) ไม่มีรถถัง (จะทำรัฐประหารก็ต้องใช้ปืนใหญ่และดาบ) ไม่มีรถยนต์ เรือยนต์ และเครื่องบิน (ต้องนั่งเกวียนหรือพายเรือ) ไม่มีตึกรามและปราสาทราชวัง (เพราะสถาปนิกรุ่นแรกเป็นคนยุโรปและการผลิตปูนซีเมนต์เป็นเทคโนโลยีต่างชาติ) ไม่มียาและเครื่องมือแพทย์ (ต้องกินยาหม้อ) ฉะนั้นประโยชน์ของโลกาภิวัฒน์ก็มีอยู่ไม่น้อย เมื่ออยากได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ก็จำเป็นต้องส่งออกเพื่อนำรายได้มานำเข้าสินค้าและเทคโนโลยี

2. ยี่ห้อประเทศ

ปัจจุบันการส่งออกของไทยในตลาดโลกเน้นการแข่งขันด้วยราคามากกว่าแข่งขันด้วยคุณภาพหรือยี่ห้อ การส่งออกด้วยวิธีนี้สร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย ประกอบกับปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดกระแสต่อต้านว่าโลกาภิวัฒน์ทำให้ประเทศไทยขาดทุนจากโลกาภิวัฒน์

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญ แต่จะให้รณรงค์ให้เลิกขับรถยนต์แล้วมานั่งเกวียนแทนกันไหมคงไม่มีใครเอา จะรณรงค์ให้เลิกใช้เครื่องปรับอากาศกันไหมก็คงไม่เลิกกันเท่าไร ถ้าไม่ยอมนั่งเกวียนหรือเลิกใช้เครื่องปรับอากาศก็เอาปัญหาสิ่งแวดล้อมมาเป็นเหตุผลปฏิเสธโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ ต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันไปด้วยวิธีการต่างๆ จะออกกฎหมายให้ยกระดับเทคโนโลยีเพื่อให้ควันพิษลดลงก็ว่ากันไป ส่วนปัญหาการกระจายรายได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าโลกาภิวัฒน์มากมาย เช่น ระบบภาษี ถ้าไม่ปฏิรูประบบภาษีก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ถ้าอยากได้กำไรจากโลกาภิวัฒน์ก็ต้องแข่งขันในตลาดโลกด้วยยี่ห้อประเทศเพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เช่นเดียวกับวิธีทำกำไรจากธุรกิจทั่วไป ประเทศต่างๆทั่วโลกมียี่ห้อประเทศแตกต่างกันไป มีทั้งยี่ห้อผู้ผลิต และตัวสินค้าขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าคุณภาพและสินค้าวัฒนธรรม

ในทวีปเอเชีย จีนมีเซรามิก ฝรั่งเรียกภาชนะเซรามิกชั้นดีว่า bone china และเริ่มทำเซรามิกเพื่อเลียนแบบจีน มีผ้าไหม เป็ดปักกิ่ง ขายอาวุธและยิงจรวดได้ ไชนาทาวน์ตามเมืองใหญ่ทั่วโลกช่วยส่งออกวัฒนธรรมจีน อินเดียมีหนังอินเดีย ข้าวแกงกะหรี่อินเดียเป็นอาหารขายดีที่อังกฤษและญี่ปุ่น ไหนจะรับจ้างเขียนซอฟแวร์ให้ประเทศตะวันตก มีบริษัทผลิตเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาวุธบางอย่างก็ทำได้ ญี่ปุ่นมีผ้าไหม ชาเขียว ไข่มุก โตโยต้า ฮอนด้า โซนี่ การ์ตูน และเกมส์นินเทนโด อาหารญี่ปุ่นแพร่หลายไปทั่วโลกและได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกเมื่อ 3 ปีทีแล้ว เกาหลีใต้มีโสมและเนื้อย่างเกาหลี มีละคร ซัมซุง แอลจี และอาวุธ สิงคโปร์มีธนาคารและตลาดทุน รัสเซียส่งออกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและอาวุธ

ในทวีปอเมริกา สหรัฐอเมริกามีกางเกงยีนส์ โค้ก เป๊ปซี่ เบียร์ หนังฮอลลีวูด เครื่องบินโบอิ้ง ยา เครื่องสำอางค์ ไนกี้ ซอฟแวร์ ธนาคารและอาวุธ (เฟซบุ๊คไม่ใช่สินค้าแต่เป็นบริการ) แคนาดาก็มีเครื่องบินขนาดเล็ก เนื้อวัว อาหารแปรรูปจากเมเปิล แร่ธาตุและอาวุธ บราซิลมีกาแฟ เนื้อวัว แร่เหล็ก

ในทวีปยุโรป อังกฤษมีเช็คสเปียร์ ทีมฟุตบอล วิสกี้ ตลาดเงินลอนดอน น้ำมันบีพี และอาวุธ ฝรั่งเศสมีไวน์ แฟชั่น น้ำหอม เครื่องสำอางค์ ศิลปะ อาหารหรูหราบริโภคปุ๊บมีอารยธรรมปั๊บ เครื่องบินแอร์บัสและอาวุธ เยอรมันมีบีเอ็มดับบลิว โฟล์คส์วาร์เกน ยา โอเปรา ดนตรีคลาสสิคและอาวุธ อิตาลีมีพาสต้า แฟชั่น เครื่องสำอางค์ โอเปรา ดนตรีคลาสสิคและอาวุธ สวิสเซอร์แลนด์มีธนาคาร นาฬิกา ยา อาวุธ เนเธอร์แลนด์มีธนาคาร น้ำมันเชลล์และอาวุธ เบลเยียมมีธนาคาร เบียร์ สวีเดนมีอิริคสัน เฟอร์นิเจอร์ไอเกียและอาวุธ ฟินแลนด์มีโนเกียและอาวุธ สาธารณรัฐเชคมีเครื่องแก้วคริสตัลและอาวุธ โปแลนด์มีอาวุธ

สินค้าขึ้นชื่อของไทยในตลาดโลกคือข้าว ผ้าไหมและเครื่องดื่มยี่ห้อกระทิงแดง แต่ผ้าไหมและเครื่องดื่มกระทิงแดงไม่ใช่สินค้าส่งออกหลัก สินค้าส่งออกหลักคืออุปกรณ์อิเล็คโทรนิคและชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีต่างชาติ อาหารแช่แข็ง ข้าว อัญมณี และเซรามิก เซรามิกคุณภาพสูงที่วางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในต่างประเทศมาจากโรงงานไทยไม่น้อย แต่เซรามิกเหล่านั้นใช้ยี่ห้อต่างชาติเหมือนอุปกรณ์อิเล็คโทรนิค หมายความว่าต่างชาติเป็นผู้ออกแบบและสั่งทำตาม

อุปสรรคสำคัญในการสร้างสินค้าไฮเทคยี่ห้อไทยเพื่อแข่งขันในตลาดโลกคือการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมการเรียนรู้ไม่ส่งเสริมให้ตั้งคำถามและค้นคว้าทดลอง น่าเสียดายที่“นายเลิศ”ไม่ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยเทคนิคเพื่อเผยแพร่นิสัยชอบค้นคว้าและทดลอง (นายเลิศ เศรษฐบุตรเป็นผู้บุกเบิกกิจการรถโดยสารในประเทศ ทดลองทำน้ำแข็งเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสิงคโปร์จนสำเร็จ ชอบคิดค้นและทดลองเหมือนนายโทมัส เอดิสันนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้บุกเบิกระบบผลิตและจ่ายไฟฟ้า)

ด้านอุตสาหกรรมอัญมณี แม้ไทยเป็นผู้ส่งออกอัญมณีรายใหญ่ของโลก คนตะวันตกและญี่ปุ่นไม่นิยมประดับบารมีด้วยอัญมณีกันมากมาย อัญมณีที่ได้รับความนิยมที่สุดคือเพชรไม่ใช่อัญมณีมีสี ปัจจุบันไทยไม่ใช่ผู้ผลิตเพชร ถ้าจะผลิตก็ต้องให้สัมปทานต่างชาติเพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีขุดเจาะเพชร นอกจากนี้องค์กรตีตรามาตรฐานเพชรเป็นของต่างประเทศทั้งหมด บริษัทเดอเบียรส์ (De Beers) กุมอำนาจตลาดเพชรเหมือนกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน (OPEC) กุมอำนาจตลาดน้ำมัน ฉะนั้นความฝันของคนไทยที่จะมี“เพชรไทย”ไม่เป็นจริงง่ายๆ

นอกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมหนึ่งที่มีศักยภาพในการสร้างยี่ห้อประเทศไทยคืออุตสาหกรรมอาหาร

3. ทางสายผัดไทย

ประเทศไทยไม่ได้นำเข้าสินค้าวัฒนธรรมด้านเดียวแต่ส่งออกวัฒนธรรมไทยในตลาดโลกด้วย ผัดไทยเป็นอารยธรรมไทยที่คนต่างชาติยอมรับอย่างสมัครใจด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
(1) ผัดไทยเป็นอาหารยอดฮิตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ

(2) ชื่อ Pad Thai ก็บอกแล้วว่าเป็นสินค้าจากประเทศไหน แม้ว่ามะขามมีต้นกำเนิดที่อินเดีย อาหารมาเลเซียก็ใช้มะขาม และเส้นก๋วยเตี๋ยวมาจากจีน แต่ไม่มีคนชาติไหนเอาน้ำมะขามเปียกมาผัดกับเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอกอย่างคนไทย

(3) คนชาติอื่นไม่เคยโวยวายแย่งเป็นเจ้าของสูตรผัดไทย ผัดไทยเป็นอาหารที่รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามประดิษฐ์ขึ้นมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

(4) ฝรั่งและคนจีนนิยมผัดไทยจนร้านอาหารฝรั่งและร้านอาหารจีนในต่างประเทศเอาผัดไทยเข้าเมนู (ตัวอย่าง http://www.noodles.com/) ร้านอาหารจีนและเวียดนามในต่างประเทศบางร้านขายต้มยำกุ้ง ร้านไหนขายต้มยำกุ้งก็ขายผัดไทยเช่นกัน แต่บางร้านขายผัดไทยแต่ไม่ขายต้มยำกุ้ง แสดงว่าผัดไทย“โกอินเตอร์”ไปไกลกว่าต้มยำกุ้ง

(5) ร้านอาหารฝรั่งและร้านอาหารจีนที่“ก็อป”ผัดไทยพยายามหามะขามเปียกมาปรุงรสให้คล้ายกับสูตรคนไทย

(6) ผัดไทยโดนแปรรูปไปเป็นอาหารจานอื่น เช่น แฮมเบอร์เกอร์ (ที่มา http://www.foodnetwork.com/recipes/ultimate-recipe-showdown/pad-thai-chicken-burger-recipe2/index.html)

(7) ฝรั่งที่หลงใหลผัดไทยหันมาชื่นชอบรสมะขาม มี”มะขามคลุกน้ำตาล”วางขายอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียมที่สหรัฐ (ที่มา http://www.traderjoes.com/) แพ็คอย่างสะอาดสวยงาม ตีตราว่าเป็น Product of Thailand แต่น่าเสียดายที่ใช้ยี่ห้อฝรั่ง

ถ้าอยากวัดกันให้ชัดเจนว่าอารยธรรมไทย“โกอินเตอร์”ไปไกลแค่ไหนก็ต้องเปรียบเทียบกับอารยธรรมโลก ในยุคที่ฝรั่งยังทำเรือกลไม่ได้นั้นพ่อค้าขนส่งสินค้าและปัจจัยการผลิตข้ามประเทศกันทางบก ถนนที่สำคัญที่สุดต่อการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลชื่อ“ทางสายไหม” (Silk Road) ทางสายไหมมีความยาวประมาณ 8,000 กิโลเมตร เชื่อมทวีปยุโรปตอนใต้แถบทะเลเมดิเตอเรเนียนกับทวีปเอเชียจากเอเชียตะวันตกถึงเอเชียตะวันออก จำนวนประเทศบนทางเส้นนี้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากนิยามคำว่า”ประเทศ”เป็นเงื่อนไขทางรัฐศาสตร์มิใช่ทางภูมิศาสตร์ (ที่มา http://depts.washington.edu/silkroad/maps/maps.html) ทางสายไหมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางอารยธรรมควบคู่กับการค้ามานานแสนนาน ปัจจุบันเวลาฝรั่ง จีน และแขกเถียงกันว่าอารยธรรมใครเกรียงไกรกว่ากัน มักอ้างอิงว่าใครคิดค้นสินค้าอะไรก่อนแล้วเอาไปขายให้ใครผ่านทางสายไหม ทางสายไหมจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ทางอารยธรรม ใครไปเที่ยวชมสถานที่บนทางสายไหมก็เป็นปลื้มว่าได้สัมผัส”อารยธรรมโลก”

เมื่อฉันนิยาม“ทางสายผัดไทย”ด้วยผลรวมของระยะทางจากกรุงเทพและเมืองหลวงของประเทศที่มีร้านขายผัดไทยด้วยกลุ่มตัวอย่างขั้นต้น 4 ประเทศคือ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐ และแคนาดา ทางสายผัดไทยมีระยะทาง 24,375 ไมล์ หรือ 39,000 กิโลเมตร เกือบ 5 เท่าของความยาวทางสายไหม ถ้าเพิ่มเติมประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย เยอรมัน สวีเดน อาร์เจนตินา ทางสายผัดไทยจะยาวกว่านี้มาก กล่าวได้ว่าทางสายผัดไทยไปไกลถึงขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ถ้าแยกเป็นเมืองแล้วนับระยะทางจากกรุงเทพถึงแต่ละเมืองยิ่งได้ระยะทางมหาศาล

ถ้าวัดระยะทางอย่างเดียวไม่จุใจก็วัดความกว้างด้วย คนต่างชาติค้นหาผัดไทยมาบริโภคด้วยวิธีการต่างๆกัน เช่น ปากต่อปาก หาทางอินเตอร์เนต เมื่อใช้ www.google.com หาคำว่า thai food (อาหารไทย) ได้เว็บเกี่ยวข้องมา 29 ล้านแห่ง หาคำว่า pad thai (ผัดไทย) ได้เว็บเกี่ยวข้องมา 8 ล้านแห่ง หาคำว่า tom yum (ต้มยำ) ได้เว็บเกี่ยวข้องมา 3 ล้านแห่ง หาคำว่า embassy of thailand (สถานทูตของประเทศไทย) ได้เว็บเกี่ยวข้องมา 1.3 ล้านแห่ง หาคำว่า sushi (ซูชิ) ได้เว็บเกี่ยวข้องมา 210 ล้านแห่ง

ด้วยสถิติเหล่านี้ตีความได้ว่า

(1) ทางสายผัดไทยเป็นทางสายหลักของอาหารไทย กินที่เกิน 25% ของทางอาหารไทย
(2) ทางสายผัดไทย“กว้างขวาง”กว่าทางสายต้มยำกุ้งเกินเท่าตัว
(3) ทางสายผัดไทย“กว้างขวาง”กว่าทางไปสถานทูตไทยซึ่งเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ
(4) ทางอาหารไทยแคบกว่า“ทางซูชิ”ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่น

4. รางวัลซีกุ๊ก

สมมุติว่า“คนครัวร้านผัดไทยประตูผี”กลายเป็น “ผู้ได้รับรางวัลซีกุ๊ก” (SEA Cook ย่อมาจาก South East Asian Cooks Award หรือรางวัลคนครัวอาเซียน เป็นรางวัลที่ฉันสมมุติขึ้นมา ไม่มีจริงในปัจจุบัน) หรือ “ศิลปินแห่งชาติสาขาอาหาร” จะเกิดอะไรขึ้น?

ผัดไทยจะกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมเช่นเดียวกับวรรณกรรมซีไรต์ ร้านผัดไทยประตูผีอาจจะเปิดสาขาตามโรงแรมหรูหราในต่างประเทศ เหมือนร้านอาหารฝรั่งและญี่ปุ่นที่โรงแรมชั้นนำในไทย “ผู้ได้รับรางวัลซีกุ๊ก”หรือ“ศิลปินแห่งชาติสาขาอาหาร”สามารถออกรายการทีวีสาธิตการทำอาหาร ออกงาน“นิทรรศการอาหารไทยแห่งชาติ” (Thailand Food Expo) ได้อย่างมีเกียรติ อาชีพทำอาหารจะกลายเป็นอาชีพที่“เท่และกินได้”ในสายตาเยาวชนไทย

ปัจจุบันสินค้าไทยที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอาศัยยี่ห้อประเทศอื่น ความนิยมของผัดไทยในนานาประเทศจะเป็นก้าวหนึ่งในการสร้างยี่ห้อประเทศ และจะนำไปสู่ความนิยมของอาหารไทยอย่างอื่นรวมทั้งอาหารแปรรูป ผู้ส่งออกไทยจะตีตลาดสินค้าชนิดอื่นได้ง่ายขึ้น เช่นภาชนะเซรามิกยี่ห้อไทย ช้อมส้อมและมีดยี่ห้อไทย ผ้าปูโต๊ะ เฟอร์นิเจอร์สารพัดชนิด สินค้าวัฒนธรรมอย่างภาพยนตร์ก็จะได้อานิสงฆ์ด้านการประชาสัมพันธ์ไปด้วยฟรีๆ

เจ้าของสูตรผัดไทยประตูผีเป็น“ทรัพยากรบุคคล”ที่สำคัญไม่ด้อยไปกว่านักเขียนรางวัลซีไรท์ นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร คุณค่าของเขาไม่ด้อยไปกว่านักแกะสลักผักผลไม้ลงหนังสือภาพที่ขายชาวต่างชาติและลงโปสเตอร์ที่แขวนอยู่ตามสถานทูตไทยในต่างประเทศ ความสวยงามเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของสินค้าเท่านั้น อาหารสวยแค่ไหนก็ขายไม่ออกถ้าไม่อร่อย ในทางกลับกัน ตำราอาหารไทย รูปภาพอาหารไทย ภาพผักผลไม้ไทย ผลงานศิลปะไทย วรรณกรรมไทยและภาพยนตร์ไทยจะตีตลาดโลกได้ได้ง่ายขึ้นถ้าคนทั่วโลกนิยมอาหารไทย เพราะอาหารมีองค์ประกอบทางวัฒนธรรม

การยกย่องปรมาจารย์ด้านอาหารจากสำนักไหนว่าทำอาหารไทย“ตำรับไทยแท้แต่โบราณ”ไม่ได้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศมากมายเท่าไรนัก อย่างมากปรมาจารย์และบุตรหลานก็เปิดร้านอาหารหรือโรงเรียนสอนทำอาหารไทยเรียกคนต่างชาติที่อยากลองทำอาหารไทยสนุกๆ คนต่างชาติบางคนเรียนเพื่อทำร้านอาหารไทยแข่งขันกับคนไทย ปรมาจารย์อาจจะหลงดีใจว่าอาหารไทยโกอินเตอร์ทั้งๆที่รายได้เข้ากระเป๋าคนต่างชาติ ต่อให้ปรมาจารย์หาหลักฐานมายืนยันว่ามี”ตำรับไทยแท้แต่โบราณ”จริงๆ ลูกค้าร้านผัดไทยประตูผีก็คงไม่สนใจตำรับไทยแท้แต่โบราณเท่าไรนัก

ทั้งนี้ทั้งนั้นความนิยมของสินค้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับวันเกิดของสินค้า รถญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ญี่ปุ่นไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์คันแรกของโลก แต่ญี่ปุ่นพัฒนาคุณภาพรถยนต์จนขายดีติดตลาดโลก อาหารก็เช่นกัน อาหารคือสินค้าที่มีนวัตกรรม มีการคิดค้นสูตรใหม่ๆแบบใหม่ๆเพื่อสร้างตลาดใหม่ๆ อาหารไม่ใช่แร่ธาตมีค่าอย่างทองคำซึ่งราคาขึ้นอยู่กับมาตรวัดความแท้

5.บทสรุป

ผัดไทยเป็นตัวอย่างสินค้าไทยและวัฒนธรรมไทยที่ชนะการแข่งขันในตลาดโลกโดยไม่ได้อาศัยงบประมาณรัฐในการเปิดตลาดหรือประชาสัมพันธ์ เช่นเดียวกับเครื่องดื่มยี่ห้อกระทิงแดง บทความนี้ไม่ปฏิเสธบทบาทรัฐในการสนับสนุนการส่งออก จุดกำเนิดของผัดไทยก็มาจากภาครัฐอย่างที่ฉันอธิบายข้างต้น รางวัลซีกุ๊กที่ฉันสมมุติขึ้นมาก็ต้องอาศัยภาครัฐ

บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าวิธีส่งเสริมการส่งออกที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการสร้างทรัพยากรบุคคล เนื่องจากทรัพยากรบุคคลเป็นผู้สร้างสูตรการผลิตหรือเทคโนโลยีที่ทำให้ได้เปรียบทางการค้า ทรัพยากรบุคคลจึงสำคัญต่อการผลิตและการส่งออกมากกว่าทุนและการประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้การส่งเสริมทรัพยากรบุคคลร่วมกับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญในเมื่อปัจจุบันก็มีรางวัลซีไรต์อยู่แล้ว

เมื่อไรประเทศไทยก้าวพ้นจากการแข่งขันด้วยราคาไปสู่การแข่งขันด้วยยี่ห้อและคุณภาพเมื่อนั้นประเทศไทยจะได้กำไรจากโลกาภิวัฒน์